AV Comm Thailand

นิตยสารออนไลน์ด้านภาพ และเสียง

ใช้สำหรับห้องเรียน สำนักงาน ห้อง/หอประชุม



ขาแขวนโปรเจคเตอร์ รับน้ำหนักได้ 30 กก.

ประสิทธิภาพ

ความปราณีต

ง่ายต่อการใช้งาน

คุ้มราคา

★★★
★★★★
★★★★★
★★★



ติดต่อผู้ขายคลิกที่นี้

 

ขาแขวนโปรเจคเตอร์ รับน้ำหนักได้ 30 กก.
 
 

             ในยุคที่โปรเจคเตอร์ใช้แสงเลเซอร์ ที่มีความสว่างสูง ทำให้ตัวโปรเจคเตอร์มีน้ำหนักมาก แต่ขาแขวนโปรเจคเตอร์จากเพดานที่นิยมใช้ในประเทศไทย ที่ทำจากอลูมิเนียมรับน้ำหนักสูงสุดได้เพียง 7 กก. และรุ่นที่ทำด้วยท่อเหล็กกลมก็รับน้ำหนักสูงสุดได้เพียง 15 กก.  ดังนั้นขาแขวนโปรเจคเตอร์ Fourth Mount รุ่น FPCM 1.0 ที่รับน้ำหนักได้สูงสุด 30 กก. ที่คนทั่วไปไม่น่าจะทราบ จะช่วยให้สามารถติดตั้งโปรเจคเตอร์ดังกล่าวจากเพดานได้ ดังนั้นการรีวิวสินค้าตัวนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจได้บ้างสำหรับผู้ที่จะซื้อโปรเจคเตอร์ตัวหนักๆ
-ที่บอกว่าน่าจะสร้างความมั่นใจได้บ้างก็เพราะ ผมไม่มีเพดานที่จะใช้ทำการยึดขาแขวนฯตัวนี้ และไม่มีโปรเจคเตอร์ที่มีน้ำหนักถึง 30 กก. เพื่อนำมาทดลอง ดังนั้นการรีวิวจึงทำได้เพียงนำขาแขวนโปรเจคเตอร์รุ่นที่รับน้ำหนักได้ถึง 15 กก. มาเปรียบเทียบว่าน่าจะมีความแข็งแรงมากพอสำหรับรับน้ำหนักถึง 30 กก. ได้ไหม
-ตอนที่ผมไปรับตัวอย่างขาแขวนฯ FPCM 1.0 ที่มีความยาว 1.0 ม. ผมสังเกตเห็นว่ากล่องบรรจุ FPCM 1.0 ยาวกว่ารุ่นที่รับน้ำหนักได้เพียง 15 กก. และยาว 65-100 ซม. เกือบๆ50% หรือยาวพอๆกับกล่องบรรจุขาแขวนฯรุ่นที่รับน้ำหนักได้เพียง 15 กก. แต่ยาว 1.5 เมตร

             เมื่อกลับมาถึงที่ทำงาน ผมก็ชั่งน้ำหนัก FPCM 1.0 พร้อมทั้งกล่อง ซึ่งก็หนัก 3.5 กก. แล้วจึงชั่งน้ำหนักรุ่นที่รับน้ำหนักได้ 15 กก. ซึ่งวัดได้ 2.1 กก. ซึ่งก็หนักกว่าเยอะ เสร็จแล้วผมก็แกะกล่องเอา FPCM 1.0 ออกมาวัดความยาว เพราะสงสัยเรื่องความยาวว่าแท้จริงแล้วยาว 1.0 เมตร หรือ 1.5 เมตรกันแน่ ผลคือเมื่อหดสั้นสุดจะยาว 70 ซม. และยืดออกให้ยาวสุดวัดได้ 1.05 เมตร ขณะที่รุ่นที่รับน้ำหนักได้ถึง 15 กก. นั้นสามารถปรับคามยาวของเสาได้เพียง 50~90 ซม. การที่ FPCM 1.0 ปรับความยาวได้เพียง 70~105 ซม. อาจมีปัญหากับผู้ที่ต้องการขาที่ยาวน้อยกว่านั้น เพราะต้องตัดทั้งเสาท่อนบนและท่อนล่างทิ้ง แต่แม้ที่ปลายเสาท่อนบนจะบากรูสลักให้ยาวในแนวราบ เพื่อปรับโปรเจคเตอร์ให้หันตรงไปยังจอภายฉาย คุณอาจเจาะรูสลักที่ใช้ยึดเสาท่อนล่างให้ติดกับเสาท่อนบนให้เป็นแค่รูกลมๆก็ได้ เพราะที่ปลายของเสาท่อนล่าง ยังสามารถปรับโปรเจคเตอร์ให้ส่ายในแนวราบได้


             เสร็จแล้วผมจึงสำรวจส่วนที่ยึดเสาบน เข้ากับเพดาน แล้วก็พบความแตกต่างระหว่าง FPCM 1.0 กับรุ่น 15 กก. กล่าวคือรุ่นที่รับน้ำหนักได้เพียง 15 กก. ใช้แผ่นเหล็กที่พับเป็นรูปตัว U ขนาด 9.5x16 ซม. ที่เจาะรูไว้สำหรับพุก 4 รู ส่วน FPCM 1.0 มีขนาดใหญ่กว่าคือ 15.5x15.0 ซม. และมีรูสำหรับพุกยึดกับเพดานถึง 6 รู


ขาแขวนฯรุ่น 15 กก.

ขาแขวนฯรุ่น 30 กก.


            ขาแขวนฯรุ่น 15 กก. นั้นด้านข้างของตัว U เปิดโล่ง 2 ด้าน แต่ FPCM 1.0 มีแผ่นเหล็กปิดส่วนที่เปิดโล่งทั้ง 2 ด้าน แสดงว่าผู้ผลิตคงได้เจอปัญหาว่าเหล็กรูปตัว U นี้คงยืดออกเมื่อต้องรับน้ำหนักมากๆ เขาจึงต้องเสริมแผ่นเหล็กด้านข้าง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแผ่นเหล็กอีกแผ่นหนึ่งเชื่อมติดกับด้านข้างของตัว U อีกทั้งเสาที่ยึดห้อยติดกับด้านล่างของตัว U ก็ยังเชื่อมติดกับแผ่นเหล็กที่ขนานกับด้านล่างของตัว U กับเจาะทะลุเพื่อเชื่อมเสาให้ติดกับแผ่นเหล็กด้านล่างของตัว U และแผ่นเหล็กที่ขนานกับด้านล่างของแผ่นตัว U ทำให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

             สำหรับเสาที่ห้อยลงมาจากเพดาน เขาแบ่งเป็น 2 ท่อนเพื่อให้สามารถปรับคามยาวของเสาได้ เพื่อให้พอเหมาะต่อการติดตั้งโปรเจคเตอร์ โดยในสมัยแรกๆเสาท่อนล่าง เขาใช้ท่อเหล็กกลมสำเร็จรูปส่วนเสาท่อนบนไม่สามารถใช้ท่อเหล็กกลมสำเร็จรูปได้ เพราะขนาดของท่อเหล็กกลมสำเร็จรูป จะมีขนาดที่ต่างกันมาก เขาจึงต้องตัดแผ่นเหล็กแบนแล้วนำมาม้วนแล้วเชื่อมต่อกันให้เป็นท่อกลมที่มีขนาดใกล้เคียงกับท่อกลมท่อล่าง แต่เมื่อจำนวนการผลิตนั้นมากพอที่จะรีดเป็นท่อเหล็กกลมสำเร็จรูป ขาแขวนนี้จึงใช่ท่อเหล็กรีดสำเร็จรูปทั้งท่อนบนละท่อนล่างที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ดังนั้นในระยะหลังๆท่อนกลมท่อนบนจึงไม่มีรอยเชื่อมอีกต่อไป และเสาบนของ FPCM 1.0 ก็ไม่มีรอยเชื่อมเหมือนกัน

             สำหรับเสาท่อนล่างนั้น เขาเจาะรูกลมๆตลอดความยาวของเสาไว้ 8 รูคู่ แต่ละรูจะห่างกัน 6 ซม. เพื่อใช้สกรูเป็นสลักยึดระหว่างเสาท่อนบนและเสาท่อนล่าง และสามารถปรับความยาวได้

 ในรุ่น 15 กก. ที่ปลายเสาล่างเขาทำเป็นแผ่นเหล็กหน้าแปลน (ผมเรียกตามช่างโลหะทั่วๆไป ซึ่งไม่รู้ว่าเรียกถูกหรือเปล่า) เพื่อยึดกับหัวปรับก้ม/เงย และตะแคงซ้าย/ขวา แต่ FPCM 1.0 นี้ ที่หัวปรับเขาเชื่อมติดกับท่อเหล็กสั้นๆ ยาวประมาณ 3.5 ซม. ซึ่งท่อเหล็กนี้ใช้ท่อเหล็กอย่างเดียวกับท่อเหล็กท่อนบน ส่วนการยึดเสาท่อนล่างเข้ากับหัวปรับนั้น เขายึดด้วยสกรูสลัก 2 ตัว


            ที่สามารถปรับให้ส่ายในแนวราบเหมือนกับการเชื่อมต่อด้วยสลักระหว่างท่อท่อนบนและท่อท่อนล่าง ทำให้ปรับโปรเจคเตอร์ในแนวราบได้มากยิ่งขึ้น ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องปรับได้ถึง 2 ที่

             ที่หัวปรับด้านล่างมีขากางอยู่ 4 ขา ที่คนไทยชอบเรียกว่าขาแมงมุม และผมก็ยังเคยได้ยินคนจีนเรียกว่า ขาแมงมุม เช่นเดียวกัน ส่วนผมชอบเรียกว่า กรงเล็บ (เหยี่ยว) ส่วนนี้จะใหญ่กว่ารุ่น 15 กก. ที่ด้านล่างของกรงเล็บนี้มีแผ่นเหล็กประกบกับกรงเล็บ โดยวัดได้ 16x10 ซม. ส่วนรุ่น 15 กก. วัดได้เพียง 8.8x8.8 ซม. และที่ผมกังวนมากๆสำหรับ FPCM 1.0 คือความกว้างของกรงเล็บ เพราะโปรเจคเตอร์รุ่นใหญ่ๆ ระยะห่างระหว่างรูสกรูที่ใช่สำหรับยึดขาแขวนฯเข้ากับโปรเจคเตอร์ น่าจะห่างกว่าโปรเจคเตอร์ ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 15 กก. ซึ่งเมื่อวัดแล้วพบว่า  เมื่อกางออกกว้างสุด กรงเล็บจะห่างได้ถึง 44x40 ซม. ซึ่งก็ถือว่ากว้างมากๆ ขณะที่รุ่น 15 กก. จะห่างมากสุดเพียง 27.5x29 ซม. และ FPCM 1.0 นี้ เมื่อหดกรงเล็บให้สั้นสุดจะวัดได้ 35x30แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปลายเล็บไม่สามารถหันกลับ แล้วสอดกลับเข้าไปในช่อง เพราะไม่มีรูสกรูสำหรับสอดสกรู แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ผู้ใช้ต้องเจาะรูสกรูเอาเอง

             เหตุที่ผมชอบให้หัวปรับด้านบน และด้านล่างสามารถถอดแยกออกจากกันได้ ก็เพราะ เวลาติดตั้งเราสามารถเอาหัวปรับด้านล่างไปยึดติดกับโปรเจคเตอร์ได้ง่าย เมื่อยึดติดกับโปรเจคเตอร์แล้ว เราจะเห็นว่าระยะระหว่างเสาที่ใช้แขวนโปรเจคเตอร์นั้น จะห่างจากแนวเลนส์ฉายเท่าไหร่ เพราะเวลาติดตั้งขาแขวนฯจากเพดานจริงๆ เราเอาแนวเลนส์ฉายให้อยู่ในแนวกลางจอฯ ไม่ใช่เอาแนวเสาแขวนอยู่ในแนวกลางจอ และเมื่อยึดขาแขวนฯติดกับเพดานเรียบร้อยแล้ว เราจึงยกโปรเจคเตอร์ไปเกี่ยวเข้ากับหัวปรับด้านบนได้อย่างสะดวกง่ายดาย

             หลังจากนั้น ผมจึงวัดความหนาของวัสดุ โดยเริ่มที่ชุดยึดกับเพดานรูปตัว U โดยใช้คาลิเปอร์ (Caliper) และในเมื่อมีการเอ่ยถึง Caliper ผมขอเขียนถึงวิธีการใช้เวอร์เนียร์ เพราะหลายคนไม่รู้จักชื่อคาลิเปอร์ และเข้าใจว่าชื่อเวอร์เนียร์ชื่อที่ถูกต้อง แม้ผมจะค้นหาคำว่า เวอร์เนียร์ (Vernier) ใน Google (ภาพที่)ปรากฏว่ากลับเป็นคาลิเปอร์เลยมู้ว่าผรั่งเองก็เข้าใจผิด และวิธีการอ่านค่าของสเกล vernier

 คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก Caliper ในชื่อ vernier (เวอร์เนียร์) ส่วนสาเหตุที่คนไทยเข้าใจว่า Caliper คือ vernier น่าจะมาจากชื่อ vernier caliper ซึ่งหากแปลเป็นภาษาไทย ก็คือคาลิเปอร์ชนิดอ่านค่าเศษด้วยเวอร์เนียร์ คาลิเปอร์เป็นอุปกรณ์สำหรับวัดความหนาของชิ้นงาน

             ยังมีชนิด Dial Caliper และ Digital Caliper คือ Dial Caliper จะมีหน้าปัดวงกลมๆคล้ายหน้าปัดนาฬิกา ที่มีเข็มชี้ไปที่สเกลบอกค่าเศษ ส่วน Digital Caliper มีหน้าปัดบอกค่าเป็นตัวเลขเลย ซึ่งหน้าปัดดิจิทัลที่ผมเคยเห็นล้วนเป็นหน้าปัดจอ LCD ทั้งที่แสดงค่าเป็นตัวเลข และเศษของคาลิเปอร์

            
             การอ่านค่าเศษด้วยเวอร์เนียร์ ผมขอเอาภาพที่โหลดจาก Google (จริงๆแล้วจาก wikipedia)  ของคาลิเปอร์ ที่มีเวอร์เนียร์เป็นตัวอ่านค่าเศษ ท่านจะเห็นแถวบนเป็นสเกลที่ใช้วัด ส่วนสเกลด้านล่างคือเวอร์เนียร์ (ในรูปท่านจะเห็นเลข 0 ของเวอร์เนียร์ชี้ตรงกับขีดระหว่างขีด 3 และ 4 ของสเกลที่ใช้วัด ส่วนการอ่านค่าเศษให้มองหาขีดของสเกลที่ใช้วัดว่าไปครึ่งขีด ว่าจะไปตรงกับขีดสเกลของเวอร์เนียร์ที่ตรงไหน ซึ่งจากภาพจะเห็นว่า ตรงกันที่เลข 5 กับ 4 ขีด ซึ่ง 5 = 0.5 ส่วน 1 ขีด = 0.02 (จาก 5 ถึง 6 มีขีดย่อย 5 ขีด) ดังนั้นค่าที่อ่านได้คือ 3.58 ม.ม.

             ขอให้สังเกตดูว่าถ้าเลข 0 ของสเกลที่ใช้วัดระยะ ตรงกับ 0 ของสเกลเวอร์เนียร์ สเกลที่ 10 ของเวอร์เนียร์จะตรงกับสเกลที่ใช้วัดระยะ 9 ไม่ใช่ 10 เหมือนกัน

             สมัยก่อนผมขายกล้องสำรวจทางบกยี่ห้อ PENTEX กล้อง Transit จะมีจานองศาที่ทำด้วยโลหะ และมีการใช้สเกลเวอร์เนียร์เพื่ออ่านค่าเศษ แล้วอาจารย์ที่สอนวิชาสำรวจที่จุฬาฯเป็นคนสอนวิธีอ่านค่าเวอร์เนียร์ให้กับผม ส่วนกล้องสำรวจชนิดนี้จากยุโรปเขาเรียกว่ากล้อง theodolite ใช้จานองศาที่ทำด้วยแก้วและอ่านค่าเศษด้วย optical micro meter ปัจจุบันน่าจะเปลี่ยนเป็น digital theodolite หรือ digital total station กันหมดแล้ว

             เรื่องเวอร์เนียร์นี้ทำให้ผมสงสัยว่าในยุคการเรียนของผมนั้น เขาแบ่งชั้นปฐมฯเป็น ป.1~ป.4 และมัธยมเป็น ม.1 คง ม.8 ตอนอยู่ชั้น ป.4 ต้องเรียนเลขาคณิต เขาใช้ไม้บรรทัดโปรแทรคเตอร์สำหรับวัดมุมเป็นองศา ตรงกลางของไม้บรรทัดจะมีเส้นขนาน 10 เส้นและมีเส้นตัดเป็นมุมทแยงที่เอนไม่เท่ากัน ซึ่งผมก็ได้แต่สงสัยจนถึงบัดนี้ว่า เส้นทแยงมุมเหล่านั้นน่าจะเป็นเส้น vernier

             ทีนี้กลับมาที่การทำรีวิว FPCM 1.0 ซึ่งผมจะดูความหนาของวัสดุว่าสมเหตุสมผลหรือเปล่า ซึ่งผมจะใช้เทียบกับขาแขวนฯ 15 กก.
ที่ตัว U ด้านบนของ FPCM 1.0 วัดได้หนา 2.3 ม.ม. ส่วน รุ่น 15 กก. วัดได้หนาเพียง 1.6 ม.ม. ซึ่งผมว่าก็สมเหตุสมผลที่จะรับน้ำหนักได้ถึง 30 กก. แต่ท่อเหล็กที่ใช้แขวนโปรเจคเตอร์นั้นวัดได้หนาพอๆกับรุ่น 15 กก. คือหนา 1.54 ม.ม. คิดว่าน้ำหนักที่ทิ้งลงมาในแนวดิ่ง ซึ่งหากถือเอาความยาวของท่อเป็นตัวกำหนดความหนาก็ไม่น่าจะมีมีปัญหา แต่ผมคิดว่าถ้าเขาใช้ท่อทีหนาขึ้นอีกนิดก็น่าจะดีกว่า แต่ในเมื่อเขาใช้ท่อสำเร็จรูป

   

แล้วหาท่อสำเร็จรูปที่มีความหนาเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อยไม่ได้ เขาคงไม่ยอมที่จะต้องไปรีดเองทั้งท่อเล็กและท่อใหญ่
เมื่อวัดความหนาของแผ่นเหล็กล่างสุดของหัวปรับ ก็วัดได้ 1.88 ม.ม. ซึ่งก็หนากว่าของ 15 กก. ที่วัดได้ 1.52 ม.ม. และที่สำคัญคือกรงเล็บที่ใช้ยึดโปรเจคเตอร์ที่วัดได้หนา 3.1 ม.ม. ขณะที่รุ่น 15 กก. หนาเพียง 1.8 ม.ม. ผมยังจำได้ว่าครั้งหนึ่ง เคยมีขาแขวนโปรเจคเตอร์จากเพดานที่มีรูปทรงเหมือนรุ่นที่รับน้ำหนักได้ 15 กก. ทุกอย่างแตกต่างกันเพียงความหนาของกรงเล็บของรุ่น 25 กก. หนากว่ารุ่น 15 กก. นิดหนึ่ง แต่จากความทรงจำของผมจะบางกว่า FPCM 1.0 พอสมควร

             เดือยที่ติดอยู่กับหัวปรับด้านบน ที่ใช้สำหรับเกี่ยวแขวนหัวปรับท่อนล่าง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 ม.ม. ซึ่งใหญ่กว่ารุ่น 15 กก. ที่วัดได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ม.ม. ซึ่งผมก็เห็นว่าสมเหตุสมผล แต่แผ่นเหล็กของหัวปรับด้านล่างนี้ที่ใช้เกี่ยวกับเดือย หนาเท่าๆกับรุ่น 15 กก. ซึ่งหากนับความหนาตามแนวดิ่งของหัวปรับก็คงใช้ได้ แต่ถ้ามีแผ่นเหล็กสำเร็จรูปที่หนาขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถหาได้ เขาเลยใช้แผ่นเหล็กรุ่นเดียวกับรุ่น 15 กก. ก็เป็นได้

 

การล็อคตำแหน่งการปรับของหัวปรับ เขาใช้วิธีขันสกรู ทำให้เกิดความฝืด ซึ่งดีกว่าอีกยี่ห้อที่ใช้ลูกเบี้ยวอัดกับเสา เพราะลูกเบี้ยวต้องทำด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ ที่อาจเลื่อนหรือวัสดุที่ไม่แข็งนี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งจะเสื่อม และใช้งานไม่ได้
            
             โดยรวมแล้วเทียบกับรุ่น 15 กก. และ 25 กก. FPCM 1.0 ถือว่ายังน่าใช้รับฆน้ำหนักได้ 30 กก. ได้อยู่ แม้จะมีข้อติบ้าง ความประณีตก็เครือๆกัน สินค้าจากจีนที่เรียบร้อยดี แต่ไม่ค่อยพิถีพิถันที่จะเพิ่มลวดลาย หรือรูปทรงให้เด่นสวยงาม เสากลางที่เป็นท่อสามารถร้อยสายไฟฟ้าและสาย HDMI ผ่านได้ แต่สำหรับสาย VGA สำเร็จรูปไม่สามารถร้อยหัวปลั๊กผ่านท่อได้

             FPCM มีให้เลือกสีดำและสีขาว โดยสีดำจะคล้ายๆ satin ที่ไม่เงาวับ แต่สีขาวเป็นสีขาวเงา อาจเป็นเพราะไม่มีสีที่ดูเป็น Satin แบบสีดำ หรือมีแต่เวลามองแล้วดูไม่สวยก็ได้  เมื่อเทียบราคากับรุ่น 15 กก. FPCM 1.0 จะมีราคาสูงกว่ามาก แต่ผู้ค้าบอกว่า ถ้าเขาคิดกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์ขาแขวนโปรเจคเตอร์ ในซีรีย์ FPCM จะมีกำไรที่ต่ำกว่ารุ่น 15 กก. มากและขายได้น้อยมากๆ

             ขาแขวนโปรเจคเตอร์จากเพดาน Forth Mount ในซีรีย์ FPCM มีความยาวให้เลือกคือ 1.0 เมตร 1.5 เมตร 2 เมตร 3 เมตรและ 4 เมตร ความจริงผมยังเห็นว่าเขามีรุ่นที่รับน้ำหนักโปรเจคเตอร์ได้ถึง 50 กก. แต่โอ้โฮ้มันดูแข็งแกร่งกว่า FPCM มาก แต่ผมยังไม่ได้เอามารีวิว

      

 

 

 

 

 

 

ลงเมื่อวันที่ 18-2-2019


 

 

555 เดะพาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ชั้น 4 ห้อง IT4-32/2
ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ติดต่อโทร. 097 -230-7619